วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ครูอาชีพ กับ อาชีพครู

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวถึงครูอาชีพว่า คือ ครูที่เป็นครูด้วยใจรัก เป็นครูด้วยจิตและวิญญาณ มีความเป็นครูทุกลมหายใจตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นครูที่รักและหวงแหน ห่วงใย อาทร ต่อนักเรียน ต่อศิษย์ดุจลูกในไส้ของตนเอง จะทำทุกวิถีทางที่จะให้ศิษย์เป็นคนดี ไม่ยินยอมให้ศิษย์เป็นคนไม่ดีเป็นอันขาด จะติดตามสอดส่องศิษย์ทุกเมื่อเชื่อวันโดยไม่ละทิ้งและมีความสุขมากในการที่ได้เกิดมาเป็นครู รักเกียรติเทิดทูนสถาบันครูอย่างภาคภูมิใจ 1 และ ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้สรุปว่า ครูอาชีพ คือครู ที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะเป็นครู มีความประพฤติดี วางตัวดี เอาใจใส่ดูแลศิษย์ดี มีวิญญาณของความเป็นครู และปฏิบัติหน้าที่ครูด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู 2
ส่วนคำว่า อาชีพครู พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้อธิบายว่า อาชีพครู คือครูที่ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้เป็นครูด้วยความรักสมัครใจ ครูประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิชาครู ไม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจวิชาที่ตนสอนมากนัก แค่สอนจบไปวัน ๆ หนึ่งก็พอแล้ว ศิษย์จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ช่างศิษย์ ไม่สนใจ ขอให้มีเงินเดือนตามวิทยฐานะก็พอ ศิษย์จะดีไม่ดีไม่เป็นธุระ บางคนก็หาอาชีพเสริมทำ เช่น รับจ้างสอนพิเศษ บางรายหนักลงไปอีกถึงรับจ้างแทงหวย จนแม้แต่ขายยาบ้าก็มี ครูประเภทนี้รัฐได้ประโยชน์ตอบแทนไม่คุ้มค่าและหลายรายนำความเสียหายมาสู่สถาบันอีกโสดหนึ่งด้วย 3 คนที่มีลักษณะเป็นอาชีพครู คือคนที่มายึดการเป็นครูเป็นอาชีพเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนขาดจิตวิญญาณของความเป็นครู ซึ่งขณะนี้ครูของไทยมีลักษณะอาชีพครูเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นเงื่อนไขที่จะทำลายความหวังของการปฏิรูปการศึกษา เพราะครูคือความหวังที่จะนำสู่ความสำเร็จ
ของการปฏิรูปการศึกษา
ทุกคนได้ให้ความสำคัญกับครูอาชีพ และจากเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก็ให้ความสำคัญและถือว่าครูเป็นผู้มีความสำคัญต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศชาติ จึงมีบทบัญญัติว่า ครูซึ่งเป็นบุคลากรวิชาชีพหลักด้านการเรียนการสอน และการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ต้องผ่านระบบการควบคุมเพื่อให้เป็นครูอาชีพ เช่น การให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีองค์กรวิชาชีพครู มีมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครู เพื่อให้เป็นครูอาชีพอย่างแท้จริง โดยมีกลไกที่จะส่งเสริมให้ครู มีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง มีระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู และกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน มีค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอและเหมาะสมกับฐานะ ทางสังคมและวิชาชีพเป็นการเฉพาะที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ปัญหาของคุณภาพการศึกษาส่วนหนึ่งมาจากคนที่มีอาชีพครู และมีความพยายามที่จะกำหนดแนวทางที่แก้ปัญหาเหล่านี้

แนะ"สคบศ."ปรับทางพัฒนาครู

นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันต่อยุคสมัยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น จึงจะต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้สถาบันคงไว้ซึ่งความสำคัญและความจำเป็นตามวิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์ที่วางไว้ โดยหน้าที่หลักที่สำคัญของสถาบัน คือการพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และจะต้องเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาโดยใช้เครือข่ายด้วย ดังนั้น สถาบันควรจะปรับรูปแบบการให้บริการจากเดิมที่มีลักษณะด้านผลิต ให้เป็นด้านตามความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อเน้นการทำงานที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นหลัก รวมทั้งหันกลับมาวิเคราะห์สถาบันว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ตลอดจนวิเคราะห์โครงสร้างว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

นายพรหมสวัสดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดในพัฒนาการครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา คือ บุคลากรทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อขับเคลื่อนหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะตำแหน่งครู

หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะตำแหน่งครู